ฟรี ร้านค้า ออนไลน์ ads 18.213.4.140 : 29-03-24 14:14:17   
สมัครสมาชิกใช้งานติดต่อโฆษณาสินค้าแยกตามหมวดร้านค้าสมาชิกกระดานสนทนากระดานสนทนา
MeeMarket

  หมวดสินค้าของเรา            
  
 

Tag / คำค้น

  แสดงสินค้าทั้งหมด
มีอะไรอยู่ในตะกร้าบ้างแล้ว คลิ๊กเลย!!!
หน้าแรกของร้าน
ร้าน MeeMarket
กระดานถามตอบของร้าน
>> webboard ของร้าน >> แอ่วเมืองน่าน ไหว้พระ 9 วัด

หัวข้อ : แอ่วเมืองน่าน ไหว้พระ 9 วัด  
 
น่าน...ดินแดนในอ้อมกอดของขุนเขาด้านตะวันออกของภาคเหนือ ที่มียังคงดำเนินวิถีชีวิตอย่างสงบสุขและเรียบง่าย โดยมีวิถีวัฒนธรรมของผู้คนชาวไทยลื้อ มีศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เมืองนี้เต็มไปด้วยมนต์ขลัง ที่แฝงด้วยแรงศรัทธาในพุทธศาสนา โดยเฉพาะ วัด ในเมืองน่าน ที่ผู้คนยังคงรักษาศรัทธาแห่งความเชื่อไว้ได้เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้น เมื่อไปเยือนเมืองน่านทั้งที ก็ต้องไป ไหว้พระ 9 วัด เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต แต่จะต้องไปวัดไหนบ้างนั้น อยากรู้ตามเราไปเที่ยวดีกว่า

สำหรับวัดที่แนะนำให้ไป ไหว้พระ 9 วัด ได้แก่...

1. วัดพระธาตุแช่แห้ง

เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่บนเนินทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน บริเวณที่เป็นศูนย์กลางเมืองน่านเดิม หลังจากที่ย้ายมาจากเมืองปัว วัดพระบรมธาตุแช่แห้งสร้างในสมัยเจ้าพระยาการเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่าง พ.ศ.1869-1902) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาการเมืองเสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย (วัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน) ในปีพ.ศ. 1897

องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง รูปแบบของ พระธาตุแช่แห้ง สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญ ไชย โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลืองผสมทองแดง) ทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าพระวิหารเป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน

พระธาตุแช่แห้ง เป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไป ชุธาตุ หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชม วัดพระธาตุแช่แห้ง ได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00 - 18.00 น.

การเดินทาง จากตัวเมืองข้ามสะพานแม่น้ำน่าน ไปตามทางหลวงหมายเลข 1168 สายน่าน-แม่จริม ประมาณ 3 กิโลเมตร โทร. 0 5475 1846

2. วัดภูมินทร์

วัดภูมินทร์ เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตพระนครดังปรากฏชื่อตำบลในเวียงในปัจจุบัน อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ตามพงศาวดารของเมืองน่าน พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นหลังจาก ที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อ พ.ศ.2139 มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ วัดพรหมมินทร์ แต่ตอนหลังชื่อวัดได้ เพี้ยนไปจากเดิมเป็น วัดภูมินทร์

จุดเด่นของวัดนี้คือเป็นวัดที่สร้างทรงจตุรมุข หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหารและพระเจดีย์ประธาน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ในธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ได้จำลองพระวิหารหลังนี้ไว้ด้วย

สามร้อยปีต่อมา วัดภูมินทร์ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อมนานถึง 7 ปี จิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงก็เขียนขึ้นในช่วงนี้ ภาพจิตรกรรมหรือ ฮูบแต้ม ในวัดภูมินทร์เป็นชาดกในพุทธศาสนา แต่ถ้าพิจารณารายละเอียดของวิถีชีวิตของคนเมืองในสมัยนั้น มีภาพที่น่าสนใจอยู่หลายภาพ เช่น ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วง ของชาวไทลื้อ พ่อแม่จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะหญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย หรือ อยู่ข่วง หากสาวเจ้าตกลงปลงใจด้วยก็จะจัดพิธีแต่งงาน หรือที่เรียกว่า เอาคำ ไปป่องกั๋น หรือเป็นทองแผ่นเดียวกัน การค้าขายแลกเปลี่ยนในชุมชน ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา เป๊อะ ของป่าบนศรีษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของ วัดภูมินทร์ มีการใช้สีแดง ฟ้าดำ น้ำตาลเข้มเป็นปื้นใหญ่ ๆ คล้ายภาพสมัยใหม่

ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน หญิงสาวกำลังทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง นอกชานมีเรือนเล็ก ๆ ตั้งหม้อน้ำดินเผาที่เรียกว่า ร้านน้ำ ส่วนชายหนุ่มไว้ผมทรงหลักแจวหรือทรงมหาดไทย แสดงให้เห็นอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน ภาพชาวต่างประเทศที่เข้ามาเมืองน่าน ช่วงรัชกาลที่ 5 ทรงผม และเครื่องแต่งกายของผู้หญิง เป็นรูปแบบเดียวกับที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น

3. วัดพญาวัด

วัดพญาวัด ตั้งอยู่ที่บ้านพญาวัด ตำบลดู่ใต้ ตามทางหลวงหมายเลข 101 ก่อนข้ามสะพานเข้าเมืองน่าน มีทางแยกซ้ายมือเข้าทางหลวงหมายเลข 1025 เข้าไปประมาณ 300 เมตร แต่เดิมบริเวณที่ตั้งวัดเป็นเขตศูนย์กลางเมืองน่าน ในสมัยที่ย้ายเมืองจากพระบรมธาตุแช่แห้ง มาตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน

เจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงในสมัยพระนางจามเทวี ลักษณะคล้ายเจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน เป็นทรงซุ้มสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 5 ชั้น แต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยดังพบที่ สถูปเจดีย์วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ยอดซุ้มก่ออิฐวงโค้ง เป็นรูปแบบการก่อสร้างสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่ามีการบูรณะในสมัยนั้น ซึ่งเป็นสมัยที่อิทธิพลของศิลปะเชียงใหม่ ได้เข้ามาแทนที่ศิลปะสุโขทัยแล้ว

ในพระอุโบสถประดิษฐาน พระเจ้าฝนแสนห่า หรือ พระเจ้าสายฝน ซึ่งชาวเมืองน่านเคยนำมาแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล นอกจากนั้น ยังมีธรรมาสน์แกะสลัก ฝีมือช่างพื้นเมืองน่านที่เก่าที่สุดเท่าที่เคยพบ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ ราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 24

4. วัดพระธาตุเขาน้อย

วัดพระธาตุเขาน้อย ตั้งอยู่ในตำบลไชยสถาน องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของตัวเมืองน่าน อยู่ในเส้นทางเดียวกันกับวัดพญาวัด ตรงหลักกิโลเมตรที่ 2 สร้างในสมัยเจ้าปู่แข็ง เมื่อ พ.ศ.2030 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ ศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ ระหว่าง พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า และวิหารสร้างในสมัยนี้เช่นกัน

จากวัดพระธาตุเขาน้อยสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ประดิษฐาน พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

5. วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อยู่ในถนนสุริยพงษ์ ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลเมืองน่าน เดิมเรียก วัดหลวง หรือ วัดหลวงกลางเวียง สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง พ.ศ. 1949 เป็นวัดหลวงในเขตนครน่าน สำหรับเจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ซึ่งถูกค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. 2091

ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุช้างค้ำนี้ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย อาทิ เจดีย์ทรงลังกา (ทรงระฆัง) รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก ดูคล้ายจะเอาหลังหนุน หรือ ค้ำ องค์เจดีย์ไว้ ลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย

ภายในวิหารประดิษฐาน พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสำริดปางประทานอภัย สูง 145 เซนติเมตร อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย ส่วนผสมของทองคำ 65 % พระประธานเป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง

6. วัดสวนตาล

วัดสวนตาล อยู่ที่ถนนมหายศ สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมมาวดี เมื่อ พ.ศ.1770 เจดีย์มีสัณฐานงดงาม ชั้นล่างมีซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ จากภาพถ่ายในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รูปเจดีย์วัดสวนตาลก่อนการบูรณะในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ (ตรงกับรัชกาลที่ 5) เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม องค์พระเจดีย์เป็นทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลศิลปะสมัยสุโขทัย

ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญคือ พระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1992 เป็นพระพุทธรูปทองสำริดองค์ใหญ่ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 10 ฟุต สูง 14 ฟุต 4 นิ้ว มีงานนมัสการและสรงน้ำเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และมีการเฉลิมฉลองทั้งกลางวันและกลางคืน

7. วัดพระธาตุเบ็งสกัด

วัดพระธาตุเบ็งสกัด หมู่ 5 บ้านแก้ม ตำบลวรนคร ตั้งอยู่บริเวณที่สันนิษฐานว่าพระยาภูคาได้สร้างเมืองปัวโบราณ หรือเมืองวรนคร เพื่อให้ เจ้าขุนฟอง พระราชบุตรบุญธรรมมาปกครอง คำว่า เบ็งสกัด หมายถึง สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากบ่อดิน ที่ใช้ไม้แหย่ลงไปแล้วขาดเป็นท่อน ๆ เหมือนมีอะไรมากัดให้ขาด และมีแสงเกิดขึ้นในคราวเฉลิมฉลอง

องค์พระธาตุ และพระวิหารสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 1826 ภายในองค์พระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชน เป็นสถาปัตยกรรมของช่างน่าน อีกทั้งวัดตั้งอยู่บนเนินสูงมองเห็นหมู่บ้านอยู่เบื้องล่าง โดยรอบเป็นป่าละเมาะ ด้านหลังเป็นเนินเขา นับเป็นการเลือกสรรชัยภูมิที่ส่งให้วัดดูโดดเด่นเป็นสง่า หากมาช่วงฤดูฝนจะมองเห็นนาข้าวเขียวขจีของหมู่บ้านเบื้องล่าง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวิหารเป็นทรงตะคุ่มแบบพื้นบ้านไทลื้อ หรือที่เรียกว่า ทรงเตี้ยแจ้ วิหารเป็นหลังคา 2 ชั้น 2 ตับ มุงด้วยแป้นเกล็ด (ทำจากไม้สักทอง) เป็นศิลปะไทลื้อ พื้นเมือง มีซุ้มประตูเป็นศิลปะล้านช้าง มีการบูรณะในสมัยพระยาอนันตยศ และโปรดให้นำพระแก้วซึ่งมีเกศาเป็นทองคำบรรจุในองค์พระธาตุ องค์พระประธานเป็นศิลปะแบบพื้นบ้านประดิษฐานบนฐานชุกชี และด้านหลังองค์พระประธานติดกระจกเงาตามความเชื่อของชาวไทลื้อ และบานประตูไม้จำหลักเป็นศิลปะพื้นเมืองน่าน

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1256 ทางเข้าตรงข้ามโรงเรียนวรนคร เข้าไปประมาณ 200 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายอีก 200 เมตร

8. วัดหนองแดง

วัดหนองแดง อำเภอเชียงกลาง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2330 โดยชาวไทลื้อร่วมกับไทพวน องค์พระประธานสร้างโดยครูบาสิทธิการ พระวิหารบูรณะครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2492 และบูรณะต่อมาในปี พ.ศ. 2538 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2539

ภายในวัดมีลานกว้างร่มรื่น ช่อฟ้าพระอุโบสถสลักรูปนกหัสดีลิงค์ (ศีรษะเป็นช้าง ตัวเป็นหงส์) ซึ่งชาวไทลื้อเชื่อว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงจากสวรรค์ เชิงชายประดับไม้ฉลุลายน้ำหยาด ซึ่งเป็นลวดลายเฉพาะของชาวไทลื้อ องค์พระประดิษฐานบนฐานชุกชี เรียกว่า นาคบัลลังก์ จากความเชื่อที่ว่านาคเป็นเครื่องหมายแห่งความสง่างาม ความดี และเป็นอารักษ์แห่งพุทธศาสนา

การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1080 ถึงที่ว่าการอำเภอเชียงกลาง เลยที่ว่าการอำเภอฯไป 2 กิโลเมตรจนถึงสี่แยกรัชดา และเห็นป้อมตำรวจบ้านรัชดาให้เลี้ยวซ้ายไป 1 กิโลเมตร

9. วัดหัวข่วง

วัดหัวข่วง ตั้งอยู่ใกล้หอคำ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน มีวิหารและเจดีย์ ที่มีลักษณะศิลปกรรมแบบท้องถิ่นล้านนา สกุลช่างเมืองน่าน ฝีมือประณีตงดงาม วัดนี้ไม่ปรากฏว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด มีเพียงหลักฐานว่าได้รับการบูรณะในราว พ.ศ. 2425 โดย เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าเมืองน่าน และต่อมาราวปี พ.ศ.2472 ในสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองน่านองค์สุดท้าย

มีวิหารที่สวยงาม ปัจจุบันเป็นอาคารทรงจั่ว เด่นที่หน้าบันประดับลวดลายไม้จำหลักรูปพรรณพฤกษา อย่างประณีต และสวยงาม ซุ้มประตูหน้าต่าง ประดับลายปูนปั้นรูปใบผักกาด อันเป็นศิลปะแบบตะวันตก เป็นวิหารฝีมือช่างเมืองน่านที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง นอกจากนี้ ในวัดยังมีหอไตรเก่า คล้ายวิหาร แต่มีขนาดเล็ก และทรงสูง หน้าบันและฝาชั้นบนประดับลายแกะสลักสวยงาม ตั้งอยู่ใกล้องค์เจดีย์

เจดีย์วัดหัวข่วง ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงประสาทหรือเรือนทอง อิทธิพลศิลปะล้านนา ฐานล่างทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยม รับฐานบัวลูกแก้ว 2 ชั้น มีชั้นหน้ากระดานคั่นกลาง ฐานบัวลูกแก้วชั้นบนย่อเก็จรับกับเรือนธาตุ ไปจรดชั้นบัวถลาใต้องค์ระฆัง ส่วนเรือนธาตุมีซุ้มจรนัมด้านละซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด ที่มุมผนังทั้งสองข้าง ปั้นเป็นรูปแทวดาทรงเครื่องยืนพนมมือ เหนือชั้นอัสดงตอนสุดเรือนธาตุเป็นชั้นบัวถลาซ้อนกัน 3 ชั้น องค์ระฆัง มีขนาดเล็กไม่มีบัลลังก์

ลักษณะของรูปทรงโดยส่วนรวมคล้ายกับเจดีย์วัดโลกโมลี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นระหว่างรัชกาลพระเมืองเกษเกล้า รวม พ.ศ. 2071 แต่ส่วนฐานล่างและชั้นบัวถลาของเจดีย์นี้ยึดสูงขึ้น ทำให้มีลักษณะเรียวสูงกว่า แสดงถึงพัฒนาการทรงรูปแบบที่ช่างเมืองน่าน ดัดแปลงนำมาใช้ในระยะหลัง ซึ่งคงมีอายุไม่เก่าไปกว่าครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 22

ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ได้ที่ ททท. สำนักงานแพร่ โทรศัพท์ 0 5452 1118-9, 0 5452 1127

หมายเหตุ : เมืองน่านมีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม การเที่ยวชมวัดวาอารามและสถานที่สำคัญต่าง ๆ นักท่องเที่ยวควรแต่งกายสุภาพ ไม่ควรสวมกางเกงขาสั้นหรือเสื้อกล้าม เพราะเป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่

ที่มา กระปุก.คอม  

แสนดีเจริญรุ่งเรือง


2011-02-28 08:03:23 27.130.170.***
stat : 690 posts , 0 replys
 

คำตอบ
 
ข้อความ
รูปแบบพิเศษ ย่อหน้า ตัวหนา ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา ตัวเอียง เส้นใต้ สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา แทรกรูปจาก internet แทรกไฟล์ youtub vdo
Emotions
ชื่อ
email
ซ่อน E-Mail
.
สมัครสมาชิก Click ที่นี่ | เข้าสู่ระบบ Click ที่นี่




User :
Pass :
ลืมรหัสผ่าน

 
 
 
© Copyright 2010 WWW.MEEMARKET.COM All Rights Reserved.