ฟรี ร้านค้า ออนไลน์ ads 18.189.180.244 : 17-04-24 1:41:32   
สมัครสมาชิกใช้งานติดต่อโฆษณาสินค้าแยกตามหมวดร้านค้าสมาชิกกระดานสนทนากระดานสนทนา
MeeMarket

  หมวดสินค้าของเรา            
  
 

Tag / คำค้น

  แสดงสินค้าทั้งหมด
มีอะไรอยู่ในตะกร้าบ้างแล้ว คลิ๊กเลย!!!
หน้าแรกของร้าน
ร้าน MeeMarket
กระดานถามตอบของร้าน
>> webboard ของร้าน >> ทำความรู้จัก กัลยาณิวัฒนา อำเภอที่ 878

หัวข้อ : ทำความรู้จัก กัลยาณิวัฒนา อำเภอที่ 878  
 
ในที่สุดรถก็พาฉันเลี้ยวผ่านโค้งสุดท้ายอย่างสะบักสะบอบ มาทำความรู้จักกับ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่

1. อำเภอกัลยาณิวัฒนา แยกตัวออกจากอำเภอแม่แจ่ม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 136 กิโลเมตร กว่า 16 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2536 ที่ชาวบ้านขอแยกตัวจัดตั้งเป็นอำเภอ แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการ ไม่สอดคล้องตามหลักจัดตั้งอำเภอของกระทรวงมหาดไทย เช่น ต้องเป็นกิ่งอำเภอไม่น้อยกว่า 5 ปี (ซึ่งที่นี่ไม่เคยเป็นกิ่งอำเภอ) ต้องมีราษฎรไม่น้อยกว่า 35,000 คน (ซึ่งที่นี่มีราษฎรเพียง 10,554 คน)

ทว่า ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนที่สูง การเดินทางไปขอรับบริการต่าง ๆ จากหน่วยงานรัฐเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งยังมีปัญหาเรื่องยาเสพติด การลักลอบตัดไม้อยู่บ่อยครั้ง กอปรกับเป็นที่ตั้งของโครงการหลวงหลายโครงการ คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้แยกพื้นที่ของตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแจ่มหลวง และตำบลแม่แดด ออกมาตั้งเป็น “อำเภอวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ” เป็นกรณีพิเศษ ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่ออำเภอว่า “อำเภอกัลยาณิวัฒนา” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเคยทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจในพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์

พระราชกฤษฎีกาตั้ง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2552 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552 กลายเป็นอำเภอที่ 878

2. วินาทีแรกที่แหงนหน้ามองฟ้า กิ่งสนลู่ตามแรงลมหนาว ตวัดปลายพู่กันละเลงบนผืนผ้าใบสีฟ้า นี่สินะเขต ป่าสนธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดของประเทศ มองไล่ระดับสายตาลงมา ภาพตรงหน้าเปลี่ยนโทนมาเป็นสีเหลืองส้ม และแดงของยอดเมเปิล ที่กำลังเปลี่ยนโมรับหน้าหนาว แน่แท้ฉันมาถึงโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ตำบลบ้านจันทร์

อยู่กับป่า มาทำงานท่องเที่ยวก็สนุกดีเหมือนกัน พี่โก๊ะ อาติชาติ เหลาโชติ หัวหน้างานสวนป่าหลวงบ้านวัดจันทร์ เล่าถึงความเป็นไปอีกหนึ่งหน้าที่ของชาว อ.อ.ป. เช่นนั้น หากงานพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ งานพัฒนาเศรษฐกิจ งานฟื้นฟูป่าต้นน้ำ งานวิชาการ และการท่องเที่ยวเดินไปพร้อม ๆ กันได้จริง เราคงเฉียดเข้าใกล้คำว่า ยั่งยืน เข้าไปทุกที พี่โก๊ะ พูดพลางนำเราไปเก็บสัมภาระ ที่นี่มีบ้านพักหลายแบบ จะนอนเดี่ยว คู่ ก๊วน ก็เลือกได้ตามสบาย ใครใคร่นอนเต็นท์ บรรยากาศตรงจุดกางเต็นท์ก็สวยไม่เบา มีให้เลือกทั้งบรรยากาศสนามหญ้าโอบล้อมด้วยคงนางพญาเสือโคร่ง หรือจะเลือกนอนในบรรยากาศริมอ่างเก็บน้ำ รับละอองหมอกยามเช้าก็ได้อารมณ์อีกแบบ

3. ฉันรู้สึกว่ามันยากเกินไปที่จะสัมผัสพื้นที่ 6,600 ไร่ของที่นี่ได้ครบในเวลาสั้น ๆ แต่ก็เพียงพอที่จะอิ่มเอมกับกิจกรรมท่องเที่ยวที่ อ.อ.ป. นำเสนอ...

เช้าตรู่-คงไม่ใช่เรื่องยากนักที่จะตื่นก่อนตะวันในสถานที่ที่เราเลือกแล้ว ทะเลหมอกแผ่ปกคลุมอ่างเก็บน้ำ มองเห็นสนอวดเรือนยอดค่อย ๆ โผล่เหนือหมอกบาง รอไปจนฟ้าเปลี่ยนเป็นสีทองอุ่น ๆ ละอองหมอกต้องแดดอ่อน ๆ กำลังลอยเหนือน้ำ ฉันแทบไม่อยากละสายตาไปไหน หรือหากต้องการไปชมทะเลหมอกสุดลูกหูลูกตา ลองไปที่จุดชมวิวหลักกิโลเมตรที่ 36 ห่างจาก อ.อ.ป. ประมาณ 3 กิโลเมตร แนะนำให้สอบถามเวลาพระอาทิตย์ขึ้น และตรวจสอบเส้นทางจากเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทาง ถูกที่ถูกเวลา รับรองไม่ผิดหวัง

สายหน่อย-ลองเดินเล่นศึกษาธรรมชาติรอบ อ.อ.ป. ชมป่าสนสองใบ ดอกไม้เมืองหนาว แม้แต่คนที่ชื่นชอบสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจำพวกไลเคน ที่นี่เปรียบเป็นสวรรค์น้อย ๆ ของพวกเขาเลยละ เดินเสร็จมานั่งพักที่ร้านขายของที่ระลึก มีพืชผักจากชาวบ้าน ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักที่สร้างสรรค์เป็นโมบายนับสิบแบบ ผ้าทอชาวปกากะญอ โปสการ์ดแนวอาร์ตตามสมัย และเสื้อยืดสกรีนวลีเด็ด มัดจันทร์ วันวัดใจ ก็มีให้เลือกซื้อ

บ่ายคล้อย-เยี่ยมชมวิถีชาวปกากะญอ บ้านห้วยอ้อ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ อ.อ.ป. สัมผัสวิถีเรียบง่ายชาวปกากะญอ แม่บ้านกำลังทอผ้าด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมแบบใช้กี่เอว (Back Trap) และมีเทคนิคการจกลายสีสันจัดจ้า ได้ผ้าหน้าแคบลวดลายแปลกตา บ้างก็ใช้กี่กระตุกได้ผ้าหน้ากว้างตัดเย็บเป็นชุด ผ้าปูโต๊ะอย่างสวยงาม บ้านยกพื้นสูง ฝาไม้ไผ่ หลังคามุงใบตองตึง หมูดำที่อยู่ใต้ถุน เริ่มร้องทักแขกแปลกหน้าอย่างเรา ใต้ถุนอีกฟากมีไว้เก็บฟืนกองโต เพียงพอสำหรับหนาวนี้ บ้านเกือบทุกหลังจะมีลานดินกลางบ้านไว้ก่อกองไฟเล็ก ๆ

เย็นย้ำ-จับจักรยานเสือภูเขาคนละคัน ปั่นหนัก ๆ หายใจแรง ๆ ปอดจะได้สูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไปลึก ๆ ปั่นในอารมณ์สบาย ๆ บนถนนคอนกรีต แต่หนืดได้พลังขาช่วยขึ้นเนิน และชวนหวาดเสียว หวิว ๆ ยามลงเนิน ปั่นผ่านป่าน ขึ้นชมอ่างน้ำชลประทาน ลัดเลาะลงมาปั่นตามคันนาได้ตามสะดวก

ค่ำดึก-แม้เวลานี้จะไม่มีในโปรแกรมที่ อ.อ.ป. นำเสนอ แต่ฉันว่าฟ้าที่นี่มืดและกว้างพอจะนั่งดูดาวเต็มฟ้าได้ทั้งคืน หนึ่งวันคร่าว ๆ ที่ อ.อ.ป. ของฉันเป็นเช่นนี้ แต่ก็มิบังอาจกำหนดเวลาตายตัวให้ผู้อ่านได้ เพราะไม่รู้ว่าหัวใจของท่านอยากโบยบินไปที่ไหนก่อนกัน

4. บทสนทนารอบกองไฟเมื่อคืน เกิดเป้าหมายร่วมของการเดินทางในวันนี้ พี่วิน พนักงานสวนป่าหลวงบ้านวัดจันทร์ฯ แนะนำเส้นทางเดินป่าที่มีให้เลือก 2 เส้นทาง คือ เส้นทางน้ำตกห้วยฮ่อม และเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าสนสองใบ ด้วยเวลาอันจำกัดเราจึงเลือกเส้นทาง น้ำตกห้วยฮ่อม แม้กระนั้นการเดินทางก็ไม่ง่ายนัก ต้องอาศัยรถขับเคลื่อนสี่ล้อ หรือติดต่อรถของเจ้าหน้าที่ อ.อ.ป. นั่งรถประมาณ 1 ชั่วโมง เลี้ยวขวาหน้าวัดจันทร์ไปทางโรงเรียนบ้านจันทร์ ผ่านบ้านห้วยครก จนถึงหมู่ที่ 1 บ้านห้วยฮ่อม แล้วเดินเท้าต่ออีกประมาณ 2 กิโลเมตร

สายฝนฉ่ำของเช้านี้ ทำให้พวกเราลืมเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง การหยุดพักรอฝนชาในกระท่อมปลายนากลางท้องทุ่งที่กำลังเหลืองอร่ามใจ กลางหุบเขาไม่ใช่ประสบการณ์ที่หาได้ง่ายนัก ฝนทิ้งช่วยให้ได้สาวเท้ากันต่อ หลุดจากบรรยากาศทุ่งนา เข้าสู่เส้นทางเลียบห้วยฮ่อม-ลำห้วยเล็ก ๆ สองข้างทางเป็นป่าดิบแล้ง น้ำฝนเคลือบต้นคล้าจนใบเขียวมัน ต้นก่อทิ้งลูกหุ้มหนามใต้ต้นเป็นช่วง ๆ ให้นักเดินทางก่อเกิดสติ มหาสดำต้นใหญ่ก็มีให้เห็นมากพอสมควร ลึกเข้าไปจะเห็นป่าต้นน้ำ ต่างนุ่งห่มผ้าเหลืองหลังผ่านพิธีบวชป่ามาเมื่อเร็ว ๆ นี้ เราเร่งสาวเท้าในจังหวะที่คิดว่าเร็วกว่าปกติ เพื่อจะได้บริจาคเลือดให้หากในปริมาตรที่น้อยที่สุด

น้ำตกห้วยฮ่อม มีขนาดไม่ใหญ่นัก สูงประมาณ 7 - 10 เมตร น้ำแบ่งเป็นสามสายตกลงสู่แอ่งเบื้องล่าง ซึ่งลึกแค่เข่า กระแสน้ำไม่แรงนัก ยืนได้ใกล้ชิดน้ำตกพอที่จะยื่นหน้าปะทะละอองน้ำได้สบาย ๆ ออกจากน้ำตกย้อนกลับเส้นทางเดิม แวะที่วัดจันทร์ หมู่ 3 พุทธสถานแหล่งรวมจิตใจของชาวพุทธ

ตามตำนานเล่าขานว่า วัดนี้สร้างมากว่า 300 ปี แต่เกือบจะกลายเป็นวัดร้าง จนกระทั่งมีพระอุตตมะจากประเทศพม่า เดินทางมาปักกลดบริเวณนี้ ครั้นเมื่อพ่ออุ้ยดูลอยจากบ้านขุนแจ่มน้อย และพ่ออุ้ยคำหมื่นจากบ้านห้วยตอง เดินทางมาเห็นก็เกิดศรัทธา ชวนชาวบ้านใกล้เคียงมาช่วยบูรณะเจดีย์จนใกล้สำเร็จ พระอุตตมะจึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศพม่า และมรณภาพระหว่างทาง ต่อมา ครูบาศริวิชัย นักบุญแห่งล้านนาเดินทางธุดงค์มาจากอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบเจดีย์ยังบูรณะไม่เสร็จ จึงชวนชาวบ้านมาช่วยกันบูรณะต่อจนสำเร็จ พร้อมยกฉัตรพระเจดีย์มีการฉลอง 7 วัน 7 คืน

จุดเด่นอีกอย่างของัดนี้คือ วิหารแว่นตาดำ วิหารนี้ช่างชาวปกากะญอได้เอากระจกกรองแสงสีดำ มาติดตรงช่องลมด้านหน้าวิหาร เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้วนี้เอง ด้วยเหตุเพื่อป้องกันโจรที่เข้ามาลอบขโมยพระประธาน ซึ่งเป็นพระสิงห์สาม อายุกว่า 300 ปี และพระพุทธรูปอื่น ๆ

ติดกับวัดเป็น ศูนย์ศิลปาชีพบ้านวัดจันทร์ กี่กระตุกเรียงราย เส้นด้ายยืดหย่อนตามแรงมือประสานจังหวะเท้า วันนี้แม่บ้านส่วนใหญ่ กำลังถักทอผ้าสีขาวตุ่นสำหรับตัดชุดนุ่งของสาวพรหมจรรย์ ตามธรรมเนียมการแต่งกายของสาวชาวปกากะญอ ผู้หญิงกะเหรี่ยงที่แต่งงานแล้วเท่านั้น ถึงจะใส่เสื้อประดับลูกเดือยและฝ้ายสีได้ จะกลับมาใส่ชุดขาวอีกไม่ได้ เพราะจะถือเป็นการดูถูกความบริสุทธิ์ และจะต้องสวมเสื้อที่มีลายปัก มิฉะนั้น เชื่อว่าจะทำให้ไม่มีลูก ส่วนสาวโสดชาวปกากะญอนั้น จะเอาชุดของสาวที่แต่งงานแล้วมาใส่ไม่ได้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ไม่ได้แต่งงาน … เอาละ มาถึงตรงนี้ฉันรู้แล้วว่าจะต้องซื้อผ้าชิ้นไหน

5. ฟักทองญี่ปุ่น จุดขายของที่นี่เขาเลยละ พี่ตู่ สังขกร แก้วทรงเกษ หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ มูลนิธิโครงการหลวงสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง แนะนำผลิตผลขึ้นชื่อของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ฯ แปลงผัก สวนผลไม้เมืองหนาว เช่น ฟักทองญี่ปุ่น สาลี อะโวคาโด กีวีฟรุต บัตเตอร์นัต ตระกูลผักสลัด ฟาร์มเห็ดหอม เห็ดหูหนู ฯลฯ มีให้เลือกชม เลือกซื้อตามฤดูกาล

มีส่วนบ้านพักไว้บริการ รองรับนักท่องเที่ยวได้ทั้งหมด 30 คน หลับแบบหนาว ๆ แล้วตื่นมาในบรรยากาศป่าสน ริมบ่อเลี้ยงปลา และแปลงผักสุดลูกหูลูกตา ก็ให้ความรู้สึกสดชื่นอีกแบบ พี่ตู่ ยังบอกพวกเราต่ออีกว่า ถ้ามีเวลาแนะนำให้ไปเที่ยวศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ หน่วยย่อยห้วยงู ตำบลบ้านจันทร์ อยู่ห่างจากที่นี่ 4 กิโลเมตร ทำเกี่ยวกับการปศุสัตว์ มีกวาง แกะ หมูป่า ไก่เบรส ไก่ต๊อก ฯลฯ ให้ชมให้ศึกษา จะได้ครบรสทั้งป่าไม้ พืชผัก และสัตว์เลี้ยง

และในอนาคตศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ฯ ร่วมกับพัฒนาการอำเภอ กำลังจัดรูปแบบท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ใช้ชื่อว่ากลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านเหล่อซอ เป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านบ้านห้วยฮ่อม บ้านดอยตุง และบ้านห้วยครก ซึ่งตอนนี้เสมือนอยู่ในช่วงตั้งไข่ เรียกว่าเรื่องธรรมชาติ วัฒนธรรม วิถีชีวิตมีพร้อมแล้ว ขาดแต่แผนการจัดการระยะยาว และการปรับปรุงมาตรฐานบริการเพื่อความยั่งยืน เมื่อชาวบ้านพร้อมเต็มที่ ครั้นเมื่อความเจริญเข้าไปจะได้ไม่เสียความเป็นตัวตนมากนัก พี่ตู่ เองก็ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้มีประการณ์ รวมทั้ง ททท. เองช่วยกันแนะนำตามสมควร

อ้อ ขอย้ำอีกนิดว่าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ มูลนิธิโครงการหลวง-สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงที่กล่าวถึงอยู่นี้ กับโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ (อ.อ.ป.) ที่กล่าวไปเมื่อต้นเรื่อง เป็นคนละที่กันนะคะ ชาวบ้านเขาจะเรียกที่นี่ว่าโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ และจะเรียกอีกที่ว่า อ.อ.ป. เพราะเห็นเจ้าหน้าที่บอกว่ามีคนมาผิดที่อยู่บ่อย ๆ ด้วยชื่ออย่างเป็นทางการค่อนข้างคล้ายกัน และมีที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยวเหมือนกัน แต่ไม่ต้องห่วง เจ้าหน้าที่เขาใจดี ไปเที่ยวที่ไหนก่อนก็เหมือนกัน

6. มาแล้วอยากให้ไปที่กะเหรี่ยงลอจ์ด ต่อด้วยบ้านเสาแดงจังเลย เชื่อเถอะว่าสวยจริง ๆ เอาละหว่า ปลัดณรงค์ ศรีชัยบุญสูง ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) หัวหน้าฝ่ายบริหารงานปกครอง เจ้าถิ่นเชื้อเชิญและท้าชมเสียขนาดนี้ พลาดไปคงจะเสียดายจริง

บ่ายวันนี้เรามุ่งหน้าสู่ ปกาเกอญอ โฮม (Karen Hill Tribe Lodge) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันคุ้นปากว่า กะเหรี่ยงลอด์จ ระยะทาง 16 กิโลเมตรจากวัดจันทร์ แต่ใช้เวลาเดินทางกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง นอกจากบอกนัยของสภาพถนน ที่ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อหรือรถโดยสารท้องถิ่นเท่านั้นแล้ว อีกอย่างใจของฉันกำลังบอกกับตัวเองว่า ไม่ว่าสิ่งที่จะเจอข้างหน้าคืออะไร เชื่อแน่ว่ามันจะคุ้มค่าแก่การรอคอย

เรือนไม้แถวยาว ยกพื้นสูง อยู่ในหมู่บ้านชาวปกากะญอ หมู่ 3 บ้านห้วยยาใต้ ตำบลแจ่มหลวง ไม่แปลกแยกประหนึ่งรีสอร์ตทั่วไป แต่กลมกลืนเปรียบสมาชิกหลังหนึ่งในหมู่บ้าน ไม่มีริ้ว ไม่มีลานจอดรถ ไม่มีลิฟต์ มีแต่บันไดขึ้นบ้าน มีพนักงานต้อนรับมากกว่ารีสอร์ตอื่นเป็นไหน ๆ เพราะชาวปกากะญอทั้งหมู่บ้านต่างยิ้มรับทักทายเราฉันมิตร ห้องพัก 10 ห้อง ไร้เครื่องปรับอากาศ ปราศจากเสียงโทรทัศน์ มีเพียงวิวนาขั้นบันไดและภูเขาเขียวลูกใหญ่อยู่ตรงหน้า เรื่องราวที่เห็นเปลี่ยนฉาก ผันผ่านไปตามฤดูกาล-หว่านไถ ตั้งท้องเหลืองอร่าม เก็บเกี่ยว ไม่มีผู้กำกับ

คุณน้อง หนุ่มวัย 28 ปี น้องรักของ คุณสร้อยเพชร ตามนคร ผู้จัดการปกาเกอญอ โฮม เล่าให้เราฟังว่า แรกเริ่มคนที่มาพบที่นี่เป็นนายฝรั่ง เขาเดินป่าเลียบลำน้ำแจ่มมาขึ้นที่หมู่บ้านนี้ เห็นว่าบรรยากาศดี ชาวบ้านน่ารัก จึงอยากมีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แบบกินนอนกับชาวบ้าน กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปกาเกอญอ โฮมแห่งนี้

น่าคิดอยู่มากว่าทำไมชาวปกากะญอที่นี่ ถึงรักปกาเกอญอ โฮม ไม่ใช่ภาพความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับชาวบ้านที่เคยเห็นจนชินตา หากไม่ใช่ความเกื้อกูลที่มีให้กันแล้วจะใช่อื่นใด ปกาเกอญอ โฮม อาศัยแรงกายแรงใจของชาวปกากะญอบ้านห้วยยาได้ตั้งแต่เริ่มสร้าง จวบจนทุกวันนี้พนักงานทุกคนก็คือชาวปกากะญอเจ้าของพื้นที่นี่แหละ

อีกคืนที่รอบกองไฟเคล้าด้วยเสียงหัวเราะ และเรื่องราวที่คนแปลกหน้าต่างเปิดใจเล่าสู่กันฟัง จริงแท้ชาวปกากะญอ หนุ่มเมือง และชาว อ.ส.ท. เราก็พูดประสาเดียวกัน โปรแกรมท่องเที่ยวปกติของที่นี่ จะเริ่มจากพักที่มูเส่คี อีโค ลอดจ์ 1 คืน แล้วเดินป่าเลียบลำน้ำแม่แจ่มประมาณ 5 กิโลเมตร มาจนถึงน้ำตกเล็ก ๆ ที่บ้านห้วยยาใต้ ต่อด้วยนั่งข้างชมรอบหมู่บ้านอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งแคมป์ช้างที่นี่มีช้างเพียง 4 เชือกเท่านั้น และบรรยากาศอิงธรรมชิตมากที่สุด ให้ความรู้สึกถ่อมตน และระลึกว่าเรามาเพียงเพื่อชมและเฝ้ามองวิถีของพวกเขา มากกว่าความรู้สึกของลูกค้าที่ผู้ประกอบการต้องฝืนใช้ธรรมชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง

ปิดท้ายโปรแกรมด้วยข้าวสวยที่ปกาเกอญอ โฮม เม็ดอวนกลม รสมัน และอร่อยเหลือเกิน เช่นนี้เพราะเราเห็นเม็ดเหงื่อร่วงจากร่างหญิงสาวปกากะญอ ที่ยกย่ำตำครกกระเดื่อง พลางผลัดใช้กระด้งฝัดแยกแกลบอยู่ใกล้ ๆ ไม่ต่างกับผัดผัก ที่เธอเก็บหาวัตถุดิบจากหน้าบ้าน กลายเป็นเมนูแสนง่าย หลายคนที่มาสัมผัสกับบ้านห้วยยาใต้ เขียนทิ้งท้ายไว้ในสมุดเยี่ยมของปกาเกอญอ โฮม ว่า พักที่นี่หนึ่งคืนน้อยไป

7. เดินทางต่อตามคำแนะนำของปลัดณรงค์ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ในวันแห่งความรักมีสิ่งที่งดงามที่สุดเกิดที่บ้านเสาแดง 14 กุมภาพันธ์ 2547 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่บ้านลีซอเสาแดง ตำบลแจ่มหลวง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณดอยห้วยขุนยา เนื่องจากทรงทราบว่า พื้นที่แถบนี้ถูกแผ้วถางไปจำนวนมาก เพื่อปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย เมื่อมีการปราบปรามยาเสพติดอย่างหนัก ประชาชนจึงหันมาทำอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำไร่เลื่อนลอย แต่ได้ผลผลิตต่ำไม่เพียงพอต่อการบริโภค เมื่อหมดฤดูกาล จึงละถิ่นฐานไปหางานทำนอกพื้นที่

ประชาชนส่วนใหญ่ของที่นี่เป็นชาวลีซอ และขาดโอกาสทางการศึกษาและการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านเสาแดง โดยให้ชาวลีซอ บ้านเสาแดง และชาวปกากะญอ บ้านห้วยเขียดแห้ง เข้าร่วมในโครงการฯ ภายในสถานพัฒนาเกษตรฯ มีทั้งไม้ผล เช่น แม็กคาเดเมีย (พันธุ์ 508, 660 และ H2) พลับ (พันธุ์ H2) ศุภโชค เกาลัดจีน ฯลฯ พืชผัก เช่น กะหล่ำปลีรูปหัวใจกะหล่ำม่วง ซาโยเต้ ผักกาดหางหงส์ ซูกินี แครอต ฯลฯ พืชไร่ เช่น ถั่วแดงหลวง ข้าวไร่ และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น กาแฟ (พันธุ์อะราบิกา) สตรอว์เบอร์รี ชาอู่หลง

จากจุดสูงสุดของสถานีพัฒนาเกษตรฯ มองเห็นวิวหมู่บ้านลีซอ บ้านเสาแดงทั้งหมู่บ้าน ลดหลั่นไปเป็นนาขั้นบันได และร่องรอยเขาหัวโล้นจากการทำไร่เลื่อนลอย ครั้งเมื่ออยู่ที่สูง ฉันว่าจุดชมวิวข้างบนนั้นสวยที่สุดแล้ว เปล่าเลย ทุกจุดที่รถวิงผ่านต่างก็สวยงามพอ ๆ กัน โดยเฉพาะวิวที่เปื้อนยิ้มของชาวลีซอและปกากะญอ ที่ทำงานอย่างมีความสุขบนแผ่นดินเกิดของพวกเขา

ในวันสุดท้ายที่ต้องจากลากัลยาณิวัฒนา โค้งที่แสนคดเคี้ยวในวันแรกกลายเป็นความทรงจำ เช่นเดียวกับธรรมชาติ และชีวิตหลากชาติพันธุ์ที่กัลยาณิวัฒนา สัญญา ณ กัลยาณิวัฒนา ว่าเราจะกลับมาพบกันอีกครั้ง

คู่มือนักเดินทาง

อำเภอกัลยาณิวัฒนา มี 3 ตำบล ได้แก่ บ้านจันทร์ แม่แดด และแจ่มหลวง มีตำบลละ 7 หมู่บ้าน รวม 21 หมู่บ้าน

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีประชากรทั้งหมด 10,554 คน ร้อยละ 98 เป็นปกากะญอ ร้อยละ 1 เป็นลีซอ (บ้านเสาแดงตำบลแจ่มหลวง) และอีกร้อยละ 1 เป็นม้ง (ตำบลแม่แดด)

อำเภอนี้เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่หลงรักธรรมชาติ ชื่นชอบวิถีชีวิต และต้องการพักผ่อนในบรรยากาศสบาย ๆ

หากต้องการเที่ยวให้ทั่วตามที่แนะนำ ควรมีเวลาประมาณ 5 วัน หรือเลือกเที่ยวเฉพาะบางจุดที่สนใจ ก็ควรมีเวลาประมาณ 3 วัน 2 คืน เพื่อให้คุ้มค่ากับการเดินทาง และควรเตรียมเสื้อผ้าเครื่องกันหนาวให้พร้อม

เพราะที่นี่สูงกว่าระดับทะเลปานกลางเกิน 1,000 เมตร ช่วงหน้าหนาวหนาวจับใจเลยทีเดียว คนที่รักการเดินป่า แม้จะอยู่ในช่วงหน้าหนาว แต่ก็เผื่อมีฝนหลงฤดูมาบ้าง ก็อย่าลืมอุปกรณ์กันทากเชียวละ

การเดินทาง

หากใช้รถยนต์ส่วนตัวจากตัวเมืองเชียงใหม่ เดินทางไปอำเภอกัลยาณิวัฒนา แนะนำ 2 เส้นทาง คือ

1. ใช้เส้นทางมุ่งหน้าสู่อำเภอแม่ริม เข้าทางหลวงหมายเลข 107 ไปตามเส้นที่ไปตำบลแม่แตง เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1095 มุ่งหน้าสู่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮอ่งตอน เลี้ยวซ้ายตรงสามแยกก่อนถึงอำเภอปาย 13 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 1265 ผ่านบ้านเหมืองแร่ จนเข้าสู่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ระยะทางประมาณ 165 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวพอสมควร แต่สภาพดีที่สุด เป็นถนนลาดยางตลอดเส้นทาง

2. มุ่งหน้าสู่อำเภอแม่ริม เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1096 ไปทางอำเภอสะเมิง ผ่านตำบลบ่อแก้ว อุทยานแห่งชาติขุนขาน บ้านยางห้า บ้านแม่ตะละ บ้านแม่แดดน้อย บ้านดงสามหมื่น บ้านแจ่มน้อย เข้าบ้านวัดจันทร์ ถนนเป็นดินลูกรัง 42 กิโลเมตร ก่อนถึงโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อรวมระยะทางประมาณ 155 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

หากเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง จะมีรถโดยสารสองแถวสีเหลืองออกากสถานีขนส่งข้างเผือก อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ วันละ 2 เที่ยว เวลา 09.00 น. และเวลา 11.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง และมีรถออกจากตลาดแสงทอง อำเภอปาย วันละ 1 เที่ยว เวลา 13.00 น.

พักผ่อน นอนหนาว ๆ

ที่พักในอำเภอกัลยาณิวัฒนาส่วนมากจะสร้างแบบอิงแอบธรรมชาติ สะดวกสบาย อากาศเย็นเพียงพอ ไม่ต้องอาศัยแค่เรื่องปรับอากาศ แต่มีเครื่องทำน้ำอุ่น

1. บ้านพักในโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) มีให้เลือกหลายแบบ

บ้านสนเขา 1 – 5 นอนได้ 2 คน ราคา 600 บาท
บ้านสนเขา 6 - 7 นอนได้ 4 คน ราคา 1,000 บาท
บ้านปากะญอ นอนได้ 2 คน ราคา 1,200 บาท
บ้านวิวน้ำ 1 - 2 นอนได้ 2 คน ราคา 1,200 บาท
บ้านวิวน้ำ 3 นอนได้ ๒ คน ราคา 3,000 บาท
บ้านวิวน้ำ 4 - 5 นอนได้ ๓ คน ราคา 3,000 บาท
บ้านรวม 1 - 2 นอนได้ ๖ คน ราคา 2,000 บาท
บ้านรวม 3 นอนได้ 10 คน ราคา 2,000 บาท
บ้านฉางข้าว 1 - 2 (ใหม่ล่าสุด) นอนได้ 2 คน ราคา 2,000 บาท

ที่นอนเสริม 200 บาท ต่อคน, ค่าธรรมเนียมกางเต็นท์ 50 บาท ต่อคน, อาหารเช้า (ชา กาแฟ ข้าวต้ม) ราคา 100 บาท ต่อคน อาหารกลางวัน (อาหาร 4 อย่าง ผลไม้) ราคา 120 บาท ต่อคน

ที่มา กระปุก.คอม  

แสนดีเจริญรุ่งเรือง


2011-01-16 22:17:46 183.89.249.***
stat : 690 posts , 0 replys
 

คำตอบ
 
ข้อความ
รูปแบบพิเศษ ย่อหน้า ตัวหนา ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา ตัวเอียง เส้นใต้ สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา แทรกรูปจาก internet แทรกไฟล์ youtub vdo
Emotions
ชื่อ
email
ซ่อน E-Mail
.
สมัครสมาชิก Click ที่นี่ | เข้าสู่ระบบ Click ที่นี่




User :
Pass :
ลืมรหัสผ่าน

 
 
 
© Copyright 2010 WWW.MEEMARKET.COM All Rights Reserved.