
แฟ้มภาพ
กรณีที่มีผู้ที่ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเผยแพร่ภาพขาชายสูงอายุคนหนึ่งมีบาดแผลฉกรรจ์ โดยระบุว่าต้นเหตุเกิดจากสาเหตุเพียงแค่ "ถูกแมวข่วน" เกิดจากบาดแผล "รอยเล็บแมว" แต่กลับลุกลามร้ายแรงจนถึงขั้นเกือบจะต้องตัดขา หากรักษาช้าเกินไป
ซึ่งภายหลังที่เรื่องนี้ถูกแชร์ต่อ ๆ กันผ่านโลกออนไลน์ ก็เกิดกระแสฮือฮา ทำให้ผู้คนตกใจกันไม่น้อย ทั้งนี้ อาการดังกล่าวนี้ ภายหลังก็ได้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกมายืนยันว่า...เกิดจาก 'โรคแบคทีเรียกินเนื้อ!!!" นี่เป็นอีกกระแสครึกโครมและทำให้ผู้คนผวา ไม่น่าเชื่อว่า "แผลแมวข่วน" จะอะไรขนาดนี้ นี่นับเป็นอีกหนึ่งกรณีของ 'โรคภัยไข้แปลก!!"
ทั้งนี้ กรณี "โรคแบคทีเรียกินเนื้อ" นี้ หลายคนไม่อยากเชื่อว่าบาดแผลเล็กแค่ "แผลแมวข่วน" จะทำอันตรายร้ายแรงหรือทำให้เกิดบาดแผลสาหัสได้ถึงเพียงนี้ อย่างไรก็ตาม 'โรคชื่อพิลึก" นี้ ก็มีข้อมูลจากทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่าง พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ให้รายละเอียดผ่านเว็บ ไซต์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ว่า...โรคแบคทีเรียกินเนื้อ (flesh-eating disease) หรือศัพท์การแพทย์เรียก necrotizing fasciitis นั้น เป็นการ ติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นลึก ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า หนังแท้ ชั้นไขมัน จนถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ
โรคนี้ถือเป็น "ภาวะที่พบได้น้อยมาก" แต่ก็มักจะพบได้ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือโรคตับแข็ง รวมถึงคนที่ประสบอุบัติเหตุจนเกิดบาดแผลและสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่ผู้ได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ ปวดบวม แดงร้อน และมีการอักเสบร่วมด้วย ซึ่งถ้าได้รับการรักษาที่รวดเร็วจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้
สำหรับสาเหตุนั้น สามารถที่จะเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดเช่น...Group A streptococcus (Streptococcus pyogenes), Staphylococcus aureus, Clostridium perfringens, Bacteroides fragilis, Aeromonas hydrophila โดยแบ่งชนิดติดเชื้อได้ 2 ชนิด คือ ติดเชื้อชนิดเดียว และ ติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน
ส่วนอาการ จะเริ่มจากมีอาการปวดบวมแดงร้อนที่ผิวหนังอย่างมาก จากนั้นอาการก็จะลุกลามรวดเร็ว โดยอาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย ต่อมาผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงและมีเนื้อตายเกิดขึ้น เมื่อมีเนื้อตายอาจมีอาการชาแทนที่การเจ็บปวด มีไข้สูง และเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะช็อก และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ไต จะทำงานลดลง...
ขณะที่ การรักษา ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาเฉพาะในโรงพยาบาล โดยการใช้ยาต้านจุลชีพในรูปยาฉีดร่วมกับการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ มีอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 17-49% ขึ้นกับโรคประจำตัวและภูมิคุ้มกัน ถ้ามีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคเบาหวาน โรคตับแข็ง โอกาสที่เชื้อจะลุกลามก็เพิ่มขึ้น และบาดแผลที่กว้างหรือลึกมากก็เป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิต
ด้าน การป้องกัน ทำได้โดยไม่ให้บาดแผลสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก ถ้าเกิดแผลควรทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่ทันที ไม่ควรบ่งด้วยเข็มหรือกรีดเปิดแผลด้วยตัวเอง เพราะยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะติดเชื้อโรค ถ้ามีแผลร่วมกับการปวดบวมแดงร้อน หรือมีไข้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที ...นี่เป็น 'ข้อมูลควรรู้" ของ'โรคชื่อแปลก" โรคนี้
ทั้งนี้นอกจาก "โรคแบคทีเรียกินเนื้อ" ที่เป็น'โรคแปลก"แล้ว กรณีพิษจากแมลงกัดต่อยก็ไม่ควรมองข้าม อย่าง "พิษแมลงก้นกระดก" ที่เคยครึกโครม มีผู้แชร์เรื่องราวของผู้ถูกพิษจนผิวหนังไหม้ กลายเป็น "โรคผิวหนังอักเสบรุนแรง" พร้อมกับกระแสร่ำลือหนาหูว่า...เมื่ออาการลุกลามรุนแรงก็ ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้?? ซึ่งภายหลังมีแพทย์ยืนยันว่า...เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นโรคใหม่ พบในไทยหลายสิบปีแล้ว แต่ยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตเหมือน "กระแสร่ำลือ"ที่เกิดขึ้น...
ส่วนกรณีแมว ก็มีอีกหนึ่ง 'โรคชื่อแปลก" อย่าง 'โรคแมวข่วน" ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า...โรคแมวข่วน (Cat Scratch disease) เป็นโรคในแมวที่สามารถติดต่อสู่มนุษย์ได้ โดยมีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อ บาร์โทเนลล่า เฮนเซลเล่ (Bartonella henselae) ที่มนุษย์สามารถติดเชื้อดังกล่าวนี้ได้จากการถูกแมวกัด ข่วน หรือจากการถูกแมวเลียที่บาดแผล โดยเมื่อได้รับเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวนี้เข้า จะเกิดมีอาการของรอยโรคบนผิวหนัง และมีไข้ มีอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หรือตับอักเสบร่วมด้วย...
ในรายที่ลุกลามรุนแรงอาจติดเชื้อทั่วร่างกาย อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปโรคนี้สามารถหายได้เองใน 4-8 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะนำไปสู่อาการที่รุนแรงยิ่งขึ้นได้ โดยอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดการติดเชื้อที่ตา หรือที่ระบบประสาท รวมถึงเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนที่หัวใจหรือตับร่วมด้วยได้
ดังนั้น ไม่ควรประมาท ยิ่งถ้าโดนแมวกัดข่วนแล้ว และมีอาการแผลหายช้า รอบรอยกัดข่วนแดงขึ้นกว้างขึ้น ต่อมน้ำเหลืองบวมและปวดอยู่เป็นเวลานาน ปวดกระดูก ปวดข้อ อ่อนเพลียผิดสังเกต เป็นไข้นานหลายวัน ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ...และย้ำว่าที่สำคัญคือ ห้ามประมาทการถูกสัตว์อะไรก็ตามกัดข่วน แม้จะมีแผลเพียงเล็กน้อย
'โรคภัยไข้แปลก" มีหลายโรคที่'มีอยู่จริง ๆ" มี 'โรคชื่อพิลึก" ที่มีจริง และ 'อันตรายจริง" หากประมาท.อาจจะสายเกินแก้ก็ได้!!!!!
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์